บุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชน อันตรายระยะยาว
อันตรายระยะยาว
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งมีวางขายไม่ถึง 20 ปี ดังนั้นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวจึงยังไม่มีข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้องค์การอนามัยโลกเตือนว่า มีข้อมูลหลักฐานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยและมีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น
ความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
งานวิจัยใหม่ ๆ ระบุว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากสารนิโคตินและสารเคมีที่เป็นอันตรายอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่พบในบุหรี่ไฟฟ้า โดยนิโคตินจะมีฤทธิ์เพิ่มความอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนสารเคมีที่เป็นอันตรายอื่น ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุและเซลล์หลอดเลือด รวมทั้งไปรบกวนการทำงานของเซลล์หลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น นอกจากนี้พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันด้วย
ความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ
งานวิจัยใหม่ ๆ สนับสนุนว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อปอดโดยทำลายระบบการทำงานของปอดและการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของทางเดินหายใจซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น ทั้งยังส่งผลให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดและถุงลมโป่งพอง โดยเฉลี่ยประมาณ 2 เท่า
ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
ยังไม่มีรายงานการเกิดมะเร็งในคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ายังมีการใช้มาไม่นาน แต่มีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่าหนูที่สัมผัสไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า วันละ 4 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 54 สัปดาห์ พบหนูเกินครึ่งที่สัมผัสไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลา 1 ปี ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และกว่าหนึ่งในห้าป่วยเป็นมะเร็งปอด ผลการศึกษาสรุปได้ว่านิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายและมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งโดยนักวิจัยเชื่อว่าไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กว่าควันบุหรี่ธรรมดาทำให้สารพิษต่างๆ เช่น นิโคตินเข้าไปสู่เซลล์ปอดได้ลึกมากกว่าจนไปทำลายเซลล์ปอดอันเป็นสาเหตุของมะเร็ง
อ้างอิง
Miyashita, L., & Foley, G. (2020). E-cigarettes and respiratory health: the latest evidence. The Journal of physiology, 598(22), 5027–5038. https://doi.org/10.1113/JP279526
Moon-shong Tang, et. al. (2019). Electronic-cigarette smoke induces lung adenocarcinoma and bladder urothelial hyperplasia in mice. Proceedings of the National Academy of Sciences. https://www.pnas.org/content/early/2019/10/01/1911321116
Shahandeh, N., Chowdhary, H., & Middlekauff, H. R. (2021). Vaping and cardiac disease. Heart (British Cardiac Society), 107(19), 1530–1535. https://doi.org/10.1136/heartjnl-2020-318150