กลยุทธ์บุหรี่ไฟฟ้า กลยุทธ์ต่าง ๆ
เพิ่มความเย้ายวนของผลิตภัณฑ์ยาสูบต่อเยาวชนและกลุ่มอื่น ๆ
1. พุ่งเป้าไปที่เด็กและวัยรุ่น
เป้าหมายของบริษัทบุหรี่ คือ เด็กและวัยรุ่น ตัวอย่างจากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่เขียนไว้อย่างชัดเจน “วัยรุ่นในวันนี้ คือลูกค้าคนสำคัญของเราในวันข้างหน้า และคนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มสูบตั้งแต่วัยรุ่น ดังนั้นการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นสำคัญมากกับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส” (ฟิลลิป มอร์ริส ค.ศ.1981)
“ฐานของธุรกิจของเราคือนักเรียนมัธยมปลาย” (ลอริลลาร์ด ค.ศ.1978) การออกแบบบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ มีการนำงานวิจัยในอดีตของบริษัทบุหรี่ที่ทำขึ้นเพื่อต้องการผลิตบุหรี่สำหรับเด็กและวัยรุ่น โดยได้ทำการศึกษาคุณลักษณะของบุหรี่ที่วัยรุ่นจะชื่นชอบและลองสูบ จนกลายเป็นนักสูบประจำ ได้แก่ รสชาติ และทำให้บุหรี่สูบง่ายไม่แสบคอ จึงเป็นที่มาขอนิโคตินแบบใหม่ คือ เกลือนิโคติน (nicotine salt) ที่มีอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ โดยนิโคตินชนิดนี้สูบง่ายขึ้น ไม่แสบคอและยังทำให้ระดับนิโคตินขึ้นสูงได้เร็วใกล้เคียงกับบุหรี่ธรรมดา นอกจากตัวสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าทั้งนิโคตินและรสชาติต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 16,000 ชนิด บริษัทบุหรี่ยังใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดสื่อออนไลน์ในการดึงดูดเด็กและวัยรุ่นอีกด้วย เช่น การจัดงานบันเทิงต่าง ๆ การใช้ดารานักร้องหรือบุคคลที่เด็กและวัยรุ่นให้ความสนใจเป็นพรีเซนเตอร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมที่โรงเรียน และการให้ทุนการศึกษาต่าง ๆ
อ้างอิง
Tobacco Executive Quotes : https://the84.org/get-the-facts/tobacco-executive-quotes/Juul wanted to revolutionize vaping. It took a page from Big Tobacco’s chemical formulas : https://www.latimes.com/politics/story/2019-11-19/juul-vaping-chemical-formulas-based-in-big-tobacco
WHO report on the global tobacco epidemic 2021: addressing new and emerging products : https://www.who.int/publications/i/item/9789240032095
2. อ้างว่าปลอดภัย/อันตรายน้อยกว่า
บริษัทบุหรี่มักจะอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 95% ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคำกล่าวนี้มาจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 ซึ่งขณะนั้นมีหลักฐานการศึกษาถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยมาก รวมทั้งนักวิจัยหลายคนที่มีชื่อในการวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้เคยได้รับการสนับสนุนทุนจากบริษัทบุหรี่อีกด้วย จึงทำให้คำกล่าวอ้างนี้ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือทั้งนี้องค์การอนามัยโลกระบุว่าบุหรี่ใหม่ ๆ ทุกชนิดมีอันตราย และไม่สามารถบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และยังไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวเพราะเพิ่งมีการใช้กันมาไม่นาน แต่พบว่าผลกระทบระยะสั้นของการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และสมอง
อ้างอิง
WHO report on the global tobacco epidemic 2021: addressing new and emerging products : https://www.who.int/publications/i/item/9789240032095
E-cigarettes: Public Health England's evidence-based confusion : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26335861/
3. อ้างว่าช่วยเลิกบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ภายใต้การทดลองวิจัยเหมือนกับวิธีการอื่นที่แพทย์ใช้ แต่คนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังคงสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่ในคนสูบบุหรี่ธรรมดาที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาด้วยตัวเอง บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดา และส่วนใหญ่จะติดทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าคือสูบทั้งสองอย่าง (dual user) ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกสรุปได้ว่า ยังไม่มีหลักฐานที่เป็นกลางยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ นอกจากนี้องค์กรสุขภาพอย่างองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่อนุมัติให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ ดังนั้นการที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
อ้างอิง
WHO report on the global tobacco epidemic 2021: addressing new and emerging products : https://www.who.int/publications/i/item/9789240032095
4. แทรกแซงงานวิจัย
มีการรวบรวมงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพที่ตีพิมพ์ก่อนปี ค.ศ.2014 พบว่ามีงานวิจัยถึง 34% ที่เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์พบว่า งานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่มีแนวโน้มที่จะบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าหรือมีอันตรายน้อยกว่างานวิจัยที่เป็นกลางถึง 66 เท่า ในปี ค.ศ.2021 บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าชื่อดัง JUUL ทุ่มเงินจำนวน 51,000 เหรียญสหรัฐเพื่อลงบทความวิชาการสนับสนุนการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยพยายามชี้นำว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ บทความวิชาการและงานวิจัยที่บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังนี้มีจำนวน 11 งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Health Behavior เล่มพิเศษประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2021 งานวิจัยเหล่านี้ที่มีชื่อนักวิจัยปรากฏอยู่รวม 26 คน แต่พบว่าส่วนใหญ่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า JUUL โดย 18 คนเป็นพนักงานของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า JUUL 5 คนทำงานบริษัทที่ปรึกษาที่ทำงานให้กับ JUUL และอีก 3 คนทำงานให้กับศูนย์วิจัยที่ทำงานให้กับ JUUL
อ้างอิง
A systematic review of health effects of electronic cigarettes : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0091743514003739
A conflict of interest is strongly associated with tobacco industry-favourable results, indicating no harm of e-cigarettes : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30576685/
Juul: Taking Academic Corruption to a New Level : https://prospect.org/health/juul-taking-academic-corruption-to-new-level/
5. สร้างเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกผ่านมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่
มูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ หรือ Foundation for a Smoke Free World (FSFW) เป็นมูลนิธิที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริสก่อตั้งเมื่อปี เดือนกันยายน ค.ศ.2017 และประกาศให้ทุนสนับสนุนปีละ 80 ล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 12 ปี จากข้อมูลพบว่ากลุ่มที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ผ่าน
องค์กรเครือข่ายผู้บริโภคนิโคตินนานาชาติ หรือ International Network of Nicotine Consumer Organisations (INNCO) โดยกลุ่มลาขาดควันยาสูบที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นสมาชิกของ INNCO และแกนนำรายหนึ่ง เคยเป็นกรรมการบริหารของ INNCO ซึ่ง INNCO ได้รับทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ และสิ่งที่น่าสนใจคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับ INNCO หลายคนเคยได้รับทุนสนับสนุนโดยตรงจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติอีกด้วย
อ้างอิง
Successful countering of tobacco industry efforts to overturn Thailand's ENDS ban : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33229463/
6. ล็อบบี้นักการเมืองให้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า
ไมเคิล บลูมเบิร์ก ทูตระดับโลกขององค์การอนามัยโลกด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการบาดเจ็บ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ กล่าวไว้ในรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO report on the global tobacco epidemic) พ.ศ.2564 “เมื่อยอดขายบุหรี่มวนตกลง บริษัทบุหรี่ทุ่มทำการตลาดผลิตภัณฑ์แบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า อย่างหนักและวิ่งเต้นล็อบบี้รัฐบาลเพื่อให้จำกัดการควบคุม เป้าหมายชัดเจน คือ ต้องการทำให้คนรุ่นใหม่เสพติดนิโคติน พวกเรายอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้” การล็อบบี้ผู้มีอำนาจของบริษัทบุหรี่มีให้เห็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2564 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาทห์ ประเทศอังกฤษได้เผยแพร่รายงานเปิดโปงบริษัทบุหรี่ข้ามชาติบริติช อเมริกัน โทแบคโค (บีเอที) ติดสินบนข้าราชการ นักการเมือง รัฐมนตรี กรรมาธิการต่าง ๆ พนักงานบริษัทคู่แข่ง รวมถึงสื่อมวลชน ใน 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา ระหว่างปี พ.ศ.2551-2556 รวมกว่า 600,000 ดอลลาร์ โดยการจ่ายเงินสินบนนี้มี 2 วัตถุประสงค์ใหญ่ ๆ คือ
1. แลกกับข้อมูลสำคัญเพื่อการแทรกแซงนโยบาย เช่น ขอให้ปรับเปลี่ยนรายงานประจำปีของรัฐสภาเพื่อสนับสนุนบริษัทบีเอที และ
2. เพื่อรู้ความเคลื่อนไหวและทำลายคู่แข่งทางการค้า
เมื่อมีนาคม พ.ศ.2563 The Bureau of Investigative Journalism รายงานว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติฟิลลิป มอร์ริส วิ่งเต้นติดสินบนอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ รวมถึงจ้างอดีตรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน รวมถึงการเป็นสปอนเซอร์จัดงานให้ข้าราชการของ NHS เพื่อโปรโมทบุหรี่ใช้ความร้อน IQOS หรือตัวอย่างในประเทศออสเตรเลียที่บริษัทบุหรี่มีการวิ่งเต้นให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ผ่านบริษัทล็อบบี้ยิสต์ Burson Cohn Wolfe ที่ประธานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เคยเป็นอดีตเลขานุการคณะรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เพื่อทำให้นักการเมืองและผู้อำนาจของออสเตรเลียสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer product) สำหรับประเทศไทยกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า มีการเข้าพบรัฐมนตรี นักการเมืองและหน่วยงานต่าง ๆ หลายครั้งเพื่อขอให้มีการยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
อ้างอิง
British American Tobacco (BAT) Conducted Extensive and Potentially Illegal Activity To Undermine Health Policy, Sabotage Competitors And Secure Profits In Africa : https://exposetobacco.org/news/bat-africa-reports/
PMI sidesteps global health treaty to lobby councils : https://www.thebureauinvestigates.com/stories/2020-03-20/philip-morris-sidesteps-who-treaty-to-lobby-local-councils
Big Tobacco’s lobbying for e-cigarettes an urgent wake-up call for all governments : https://www.acosh.org/big-tobaccos-lobbying-e-cigarettes-urgent-wake-call-governments/